วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การตอนกิ่งมีหลายแบบ

การตอนกิ่ง (Layering)

การตอนกิ่ง หมายถึง วิธีการทำให้กิ่งพืชออกรากในขณะอยู่ติดกับต้นแม่ เมื่อกิ่งตอนนั้นออกรากดีแล้ว จึงตัดไปปลูกต่อไป

การตอนกิ่งเป็นการตัดท่อลำเลียงอาหารของพืชส่วนท่อน้ำยังมีอยู่ตามปกติ จึงทำให้กิ่งที่ทำการตอนได้รับน้ำอยู่ตลอดเวลา
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กิ่งตอนสดอยู่เสมอจนกว่าจะออกราก
การออกรากของกิ่งตอน จะขึ้นอยู่กับความชื้น การถ่ายเทอากาศ และระดับอุณหภูมิที่เหมาะสม แต่ถ้าปล่อยให้ดินหรือ
วัสดุหุ้มกิ่งแห้งโดยมิได้ดูแล ย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อการเกิดรากได้เช่นกัน  ดังนั้น ฤดูกาลที่เหมาะสมที่สุดในการตอนกิ่ง ควรเป็นฤดูฝน
การตอนกิ่ง  ใช้แก้ปัญหา โดยเฉพาะพืชบางชนิดที่ไม่สามารถออกรากได้โดยใช้วิธีตัดชำ  แต่ออกรากได้โดยวิธีตอนกิ่ง
สามารถทำได้ง่ายทั้งกลางแจ้งและในเรือนเพาะชำ  นอกจากนี้ กิ่งตอนยังมีจำนวนรากมากกว่ากิ่งตัดชำ เมื่อนำไปปลูก
จึงมีโอกาสตั้งตัวได้เร็วและมีเปอร์เซ็นต์การตายน้อยกว่ากิ่งตัดชำ  ประการสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ
พืชต้นใหม่ที่ได้จากการตอน จะมีลักษณะเป็นไม้พุ่มเตี้ย จึงสะดวกต่อการดูแลปฏิบัติบำรุงรักษาและเก็บเกี่ยว
โดยเฉพาะไม้ประดับ จะได้ทรงพุ่มที่สวยงาม  เป็นต้น  แต่กิ่งตอนมีข้อเสีย คือพืชที่นำไปปลูกเมื่อโตเต็มที่จะล้มง่าย เพราะไม่มีรากแก้ว

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตอนกิ่ง
1) การทำให้เกิดการสะสมอาหารและสารบางชนิดที่จำเป็นต่อการงอกราก ในบริเวณที่ทำการตอน 
โดยวิธีการทำให้กิ่งเกิดแผล เพื่อตัดท่อลำเลียงอาหารของพืชในส่วนอื่นๆ จึงเกิดการสะสมอาหารและ
สารบางอย่างขึ้นเหนือแผลที่ทำการตอน
2) การสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการงอกรากของพืช เช่น ความชื้น อุณหภูมิ และแสงสว่าง 
3) การดูแลรักษา ควบคุมความชื้นหรือการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย อันเกิดจากศัตรูอื่นๆ เช่น มด แมลง สัตว์เลี้ยง เป็นต้น

อุปกรณ์ที่ใช้ในการตอนกิ่ง
1) มีดขยายพันธุ์หรือคัตเตอร์ (Cutter) หรือมีดติดตาต่อกิ่ง
2) ถุงพลาสติกขนาด 2x4 นิ้ว หรือ 3x5 นิ้ว
3) วัสดุหุ้มกิ่งตอน เช่น กาบมะพร้าว ถ่านแกลบหรือขุยมะพร้าว
4) เชือกมัดวัสดุหุ้มกิ่งตอน เช่น เชือกฟาง
5) ฮอร์โมนเร่งราก

รูปแบบการตอนกิ่ง  มีหลายวิธี ที่นิยมกันได้แก่
1)  การตอนกิ่งในอากาศ (Air Layering)
2)  การตอนกิ่งแบบฝังยอด (Tip Layering)
3)  การตอนกิ่งแบบฝังกิ่งให้ยอดโผล่พ้นดิน (Simple Layering)
4)  การตอนกิ่งแบบงูเลื้อย (Compound Layering)
5)  การตอนกิ่งแบบขุดร่อง (Trench Layering)
6)  การตอนกิ่งแบบสุมโคน (Mound or Stool Layering)







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น